องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

จำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

“การกระจายอำนาจ” เป็นคำหรือสิ่งที่คนในสังคมไทยให้ความสนใจและติดตามเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังที่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่นไว้อย่างชัดเจนที่สุดฉบับหนึ่ง และเป็นผลสืบเนื่องมาถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ทำให้การกระจายอำนาจมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ในหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น กระจายอำนาจจึงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมากขึ้นตามลำดับ และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นหรือในระดับพื้นที่ของไทย
1. แนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจ
1.1 กรอบแนวคิดพื้นฐานว่าด้วยการรวมศูนย์อำนาจ
ภายใต้รัฐหนึ่ง ๆ ย่อมมีความจำเป็นที่จะต้องมีการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่สถาบันการเมืองการปกครองในศูนย์กลางเสมอ เพื่อมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศหรือระดับโลก เนื่องจากไม่มีกลไกที่เป็น “ตัวแทน” อันชอบธรรมที่จะออกไปมีบทบาทหน้าที่ในการสร้างพันธมิตรในทางยุทธศาสตร์ การเจรจาต่อรองในด้านผลประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศ หรือการมีตัวแทนเข้าไปนั่งในการประชุมระหว่างประเทศ รวมถึงการเข้าเป็นสมาชิกในองค์การระหว่างประเทศ ดังนั้น รัฐบาลส่วนกลางหรือรัฐบาลระดับชาติจึงมีหน้าที่ในด้านความสัมพันธ์ภายนอกหรือกิจการวิเทศสัมพันธ์ของรัฐ และมีความสำคัญในฐานะ “ตัวกลาง” ที่คอยประสานและสร้างความร่วมมือในระหว่างบรรดาสถาบันทางการเมืองการปกครองนอกศูนย์กลาง เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพและความร่วมมือในการกระทำการต่าง ๆ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน (Mutual Interests) ภายในรัฐ ในกรณีนี้ รัฐบาลส่วนกลางมักเข้าไปมีบทบาท ควบคุมระบบเศรษฐกิจและขนส่ง เป็นต้น
การรวมศูนย์อำนาจจำแนกได้ใน 2 ลักษณะ คือ
1) การรวมศูนย์อำนาจในทางการเมือง หมายถึง ความจำเป็นที่จะต้องมีสถาบันทางการเมืองที่เป็นศูนย์กลางในการสร้างความเป็นเอกภาพในทางการเมืองภายในรัฐ เพื่อทำหน้าที่ในการเป็นตัวแทนและสะท้อนถึงเจตจำนงค์ร่วมกันของคนภายในรัฐแห่งนั้น ๆ
2) การรวมศูนย์อำนาจในทางการปกครอง หมายถึง ความจำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดแบบแผนร่วมกันหรือการจัดระเบียบในทางการปกครองภายในรัฐนั้น ๆ รวมถึงการจัดระบบบริการสาธารณะต่าง ๆ ภายใต้รัฐในด้านที่ถือว่าจำเป็นสำหรับประชาชนทั่วทุกพื้นที่ที่จะต้องได้รับอย่างถ้วนหน้า หรือภายใต้มาตรฐานอันเดียวกัน
การรวมศูนย์อำนาจมีหลักการที่เป็นตัวกำหนดคุณลักษณะอยู่ 3 ประการ คือ
1) แหล่งที่มาของความสามารถในการใช้ความรุนแรงโดยชอบธรรมของรัฐจะต้องขึ้นอยู่กับส่วนกลาง คือ กิจการทหารและตำรวจ รัฐจำเป็นต้องมีกองกำลังทหารในการปกป้องคุ้มครองภัยคุกคามจากภายนอกรัฐ ขณะที่กิจการตำรวจจำเป็นต้องมีเพื่อทำให้บรรดากฎเกณฑ์ในการรวมอยู่ร่วมกันของคนภายในรัฐ
2) อำนาจในการตัดสินใจสูงสุดอยู่ที่ส่วนกลาง
3) ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรวางอยู่บนหลักอำนาจการบังคับบัญชา มีการลำดับชั้นการบังคับบัญชา (Hierarchy) ที่อำนาจในการสั่งการต่าง ๆ ทั้งในด้านการกระทำ และตัวบุคคลผู้กระทำ มีลักษณะจากบนลงล่าง (Top-down Approach)
การรวมศูนย์อำนาจมีทั้งข้อดีและข้อเสีย สำหรับเหตุผลที่รองรับข้อดีของการสร้างความชอบธรรมให้กับการรวมศูนย์อำนาจ ประกอบด้วย
1) ความเป็นเอกภาพของชาติ (National Unity) เนื่องจากรัฐบาลส่วนกลางเป็นสถาบันเดียวที่สามารถกระทำการในนามของผลประโยชน์ส่วนรวม การมีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็งย่อมเป็นสิ่งสำคัญ หากรัฐบาลกลางอ่อนแอ ย่อมจะนำไปสู่การต่อสู้ขัดแย้งระหว่างส่วนต่าง ๆ ในสังคม และปราศจากซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
2) ความเป็นแบบแผนอันเดียวกัน (Uniformity) เนื่องจากว่ามีแต่เพียงรัฐบาลกลางที่สามารถวางหลักกฎหมายและระบบบริการสาธารณะต่าง ๆ ที่เป็นแบบแผนและมาตรฐานเดียวกันได้ ย่อมทำให้เกิดการยึดโยงชุมชนที่อยู่ในส่วนต่าง ๆ ของประเทศเข้าไว้ด้วยกัน
3) ความเสมอภาคภายในชาติ (Equality) เนื่องจากการกระจายอำนาจมีจุดอ่อนตรงที่รัฐบาลที่อยู่นอกศูนย์กลางออกไปถูกผลักให้ตนเองต้องอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ภายในท้องถิ่นหรือภูมิภาคของตนเป็นหลัก จึงมีแต่เพียงรัฐบาลกลางที่สามารถแก้ไขความไม่เท่าเทียมอันเกิดจากความแตกต่างในทรัพยากรระหว่างชุมชนต่าง ๆ ภายในรัฐ
4) ความมั่งคั่งของชาติ (Prosperity) ที่ผ่านมา การพัฒนาทางเศรษฐกิจและการรวมศูนย์อำนาจมักจะไปด้วยกันเสมอ การมีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็งย่อมทำให้สามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาหรือการวางแผนในทางเศรษฐกิจของชาติได้ อันจะนำไปสู่การระดมทรัพยากรจากส่วนต่างๆ ภายในสังคม
ในรัฐที่มีการรวมศูนย์อำนาจอย่างมาก อำนาจทั้งในทางการเมืองและการบริหารปกครองภายในประเทศถูกรวบเอาไว้ที่รัฐบาลกลางหรือตัวแทนของรัฐบาลกลางอย่างเข้มข้น ปรากฏจุดอ่อนหรือข้อเสีย ได้แก่
1) ความล่าช้าในการตัดสินใจ การกระทำการใด ๆ ของเจ้าหน้าที่หรือองค์กรของรัฐบาลกลางย่อมต้องเป็นไปตามอำนาจการตัดสินใจหรือวินิจฉัยสั่งการของส่วนกลาง และต้องเป็นไปตามลำดับชั้นการบังคับบัญชา ก็ย่อมทำให้การทำงานต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านการบริการสาธารณะเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่ทันต่อความต้องการของประชาชน
2) ความทั่วถึงและประสิทธิภาพของการจัดทำบริการสาธารณะเป็นไปได้ยาก หากบริการสาธารณะเกือบจะทั้งหมดเป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลางย่อมเป็นเรื่องลำบากที่จะจัดทำบริการสาธารณะที่มีอยู่มากประเภทให้ได้ผลดีและทั่วถึงทุกชุมชนท้องถิ่นได้
3) การบริการสาธารณะที่ไม่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของแต่ละชุมชนท้องถิ่น เนื่องจากในแต่ละพื้นที่ย่อมมีลักษณะของปัญหา ผลประโยชน์ และความต้องการที่หลากหลาย โครงสร้างทางการเมืองการปกครองที่รวมศูนย์ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการจัดทำบริการสาธารณะไปตามความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ได้
4) เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย การรวมศูนย์อำนาจทั้งในทางการเมืองและการปกครอง ย่อมเป็นการปิดโอกาสที่ประชาชนจะได้เรียนรู้ ฝึกฝน และมีประสบการณ์ในการปกครองตนเอง (Self-government)
1.2 กรอบแนวคิดพื้นฐานว่าด้วยการกระจายอำนาจ
แนวคิดพื้นฐานที่เปรียบเสมือนกับกรอบความคิดใหญ่ในการจัดระบบการปกครองท้องถิ่นนั้น คือ แนวคิดว่าด้วย “การกระจายอำนาจ” (Decentralization) ได้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหากแต่มีความแตกต่างหลากหลายอยู่ค่อนข้างมาก จึงทำให้เกิดคำอธิบายและการให้ความหมายของคำดังกล่าวเอาไว้ ดังนี้
โภคิน พลกุล (2528:4, 7) และ อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาส (2533:1) ได้ให้ข้อสังเกตว่า มีความหมายตามหลักภาษาฝรั่งเศสคือ “การเอาอำนาจออกไปจากศูนย์กลาง” ปัญหาที่ตามมาคือ “อำนาจ” หมายถึงอะไร ในขณะที่ จรัส สุวรรณมาลา (2538:9-10) ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้คนส่วนใหญ่มักตีความคำว่า “อำนาจ” ในคำกระจายอำนาจหมายถึง “อำนาจอธิปไตย” มักกล่าวกันว่าไม่สามารถแบ่งแยกได้ ในความหมายดั้งเดิมของคำดังกล่าวมิได้เน้นเรื่อง อำนาจ (Power) หากแต่เป็นเรื่องของ สภาวะศูนย์กลาง (Central) และสภาวะการกระจายอำนาจ (Decentral) เป็นสำคัญ “คำว่า Decentralization จึงควรหมายถึง การกระจายอำนาจในการตัดสินใจ มิใช่การแบ่งอำนาจอธิปไตยของชาติ การกระจายอำนาจสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นมิใช่การสร้างอธิปไตย หากแต่เป็นการให้ (ยอมรับ) สิทธิในการปกครองตนเองของชุมชนและภูมิภาคภายใต้อธิปไตยของชาติหนึ่ง ๆ ร่วมกัน”
Samuel Humes IV (1991:3) เสนอว่า ควรให้เป็นเรื่องของ “การจัดสรรแบ่งปันอำนาจ” (Distribution of Power) กล่าวคือ เมื่อพูดถึงการกระจายอำนาจภายใต้บริบทของการบริหารปกครองในพื้นที่เรียกว่าท้องถิ่น (Local Governance) ควรเป็นเรื่องของ “จัดสรรหรือแบ่งปันอำนาจ” (Distribution) มิใช่การ “แบ่งแยกอำนาจ” (Division) คำดังกล่าวมักนำไปสู่ความสับสนหรือปะปนกับการใช้แนวคิดเรื่อง รัฐธรรมนูญกับการแบ่งแยกอำนาจ (Constitutional Division of Power between Nation and State) ขณะที่คำว่า “จัดสรร/แบ่งปันอำนาจ” มีความสอดรับและอยู่ในขอบวงของแนวคิดต่าง ๆ ในเรื่องการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่นมากกว่า เช่น แนวคิดในเรื่อง (De)centralization, (De)concentration, Devolution และ Delegation
การกระจายอำนาจในความหมายกว้าง ๆ คือ การจัดสรรหรือแบ่งปันอำนาจการตัดสินใจ (หรือในภาษากฎหมายของไทยเรียกว่า การวินิจฉัยสั่งการ) อันเกี่ยวข้องกับกิจการสาธารณะ (Public Affairs) ของรัฐส่วนกลางไปยังหน่วยงานหรือองค์กรอื่น ๆ
ในรูปแบบของการกระจายอำนาจ มีอยู่ด้วยกันหลายระดับและหลายรูปแบบ การกระจายอำนาจ ควรเป็นเรื่องของ “ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในระบบการเมืองหนึ่ง ๆ” (Manor, 1999:4-12) สามารถแจกแจงขอบข่ายหรือรูปแบบของการกระจายอำนาจได้ 5 ลักษณะ ได้แก่
1) การกระจายอำนาจโดยจำเป็นหรือโดยปริยาย (Decentralization by Default) เกิดจากสภาวการณ์ที่สถาบันหรือองค์กรของรัฐเกิดความล้มเหลวในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ มิอาจสามารถจะเข้าไปใช้อำนาจหรืออิทธิพลในดินแดนที่ตนปกครองอยู่ได้ และจากสภาวะที่ประชาชนในระดับรากหญ้าเกิดความไม่เชื่อใจในรัฐบาล เหล่านี้จึงเป็นผลให้ประเทศที่มีภาคประชาสังคมมีความตื่นตัวและเข้มแข็ง จำเป็นต้องลุกขึ้นมาดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อชุมชนของตนด้วยตนเองโดยที่รัฐบาลเองก็ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้น
2) การแปรรูปกิจการของภาครัฐ (Privatization) ได้แก่ การโยกโอน (Handover) กิจการบางอย่างที่เคยจัดทำโดยหน่วยงานของรัฐไปให้ภาคเอกชนเป็นผู้จัดทำแทน เช่น กิจการขนส่งมวลชน กิจการโทรคมนาคม การไฟฟ้า และการประปา เป็นต้น
3) การกระจายอำนาจภายใต้หลักการแบ่งอำนาจ (Deconcentration) หมายถึง การแบ่งอำนาจของรัฐบาลกลางไปยังองค์กรในระดับรองที่ออกไปทำงานในพื้นที่นอกศูนย์กลางหรือท้องถิ่น โดยที่องค์กรภายใต้หลักการแบ่งอำนาจนี้จะมีอิสระตามสมควรในการตัดสินใจต่าง ๆ ภายในพื้นที่ที่ตนดูแล แต่ทั้งนี้อำนาจการตัดสินใจและการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ยังคงอยู่ที่ส่วนกลาง บางครั้งจึงเรียกการกระจายอำนาจในลักษณะนี้ว่า “การกระจายอำนาจทางการบริหาร” (Administration Decentralization) (Parker, 1995)
4) การกระจายอำนาจภายใต้หลักการมอบอำนาจ (Delegation) มีระดับของการกระจายอำนาจที่ให้อิสระสูงกว่าการแบ่งอำนาจ การกระจายอำนาจเน้นในเชิง “ภารกิจหน้าที่” มีการกำหนดภารกิจเฉพาะที่ชัดเจนให้องค์กรเหล่านั้นสามารถตัดสินใจและใช้อำนาจหน้าที่ภายในขอบเขตของตนได้โดยอิสระ แต่รัฐส่วนกลางก็ยังคงมีอำนาจอยู่เหนือองค์กรเหล่านี้โดยอาศัยมาตรการทางกฎหมายเป็นกรอบในการควบคุมและกำกับบทบาทองค์กรภายใต้หลักการมอบอำนาจ รวมถึงอำนาจในการจัดตั้งและยุบเลิกองค์กรภายใต้หลักการมอบอำนาจ
5) การกระจายอำนาจภายใต้หลักการโอนอำนาจ (Devolution) ถือเป็นการกระจายอำนาจที่สะท้อนให้เห็นถึงระดับของการกระจายอำนาจที่กว้างขวางมากที่สุด ถูกใช้เพื่ออธิบายถึงสภาวะที่รัฐส่วนกลางมีการถ่ายโอนหรือยกอำนาจการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ไปยังองค์กรตัวแทนของพื้นที่ ชุมชน หรือท้องถิ่นต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ส่วนกลางจะไม่เข้ามามีบทบาทหรือแทรกแซงการทำงานขององค์กรภายใต้หลักการโอนอำนาจหรือการแทรกแซงจะเกิดขึ้นต้องเป็นไปอย่างจำกัด ดังนั้น จึงมีการเรียกการกระจายอำนาจในลักษณะนี้ว่า “การกระจายอำนาจในทางการเมือง” หรือ “การกระจายอำนาจที่เน้นความเป็นประชาธิปไตย” (Political of Democratic Decentralization) ทั้งนี้ การโอนอำนาจเท่าที่ปรากฏมีอยู่ด้วยกันใน 2 ระดับ ได้แก่
ระดับที่หนึ่ง การโอนอำนาจในทางการปกครอง (Administration Devolution) สอดคล้องกับการจัดรูปการปกครองท้องถิ่นตามหลัก “การปกครองตนเอง” (Local-self Government) เป็นหลักการที่เปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นมีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นของตนเอง โดยตนเอง และเพื่อตนเอง โดยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระเป็นอย่างสูงในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่และสามารถจัดทำกิจการต่าง ๆ เพื่อตอบสนองต่อปัญหาและความจำเป็นภายในชุมชนของตนได้อย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังมีความเป็นอิสระทั้งในทางการคลังและบุคลากร
ระดับที่สอง การโอนอำนาจในทางนิติบัญญัติ (Legislative Devolution) เป็นรูปแบบของการกระจายอำนาจขั้นสูงสุดที่เป็นไปภายใต้การจัดรูปแบบการปกครองในระบบรัฐเดี่ยว (Unitary System) จนมีลักษณะเข้าใกล้กับระบบสหพันธรัฐ (Federal System) (Heywood, 2002:167-168) เป็นการถ่ายโอนอำนาจจากส่วนกลางไปยังพื้นที่หรือท้องถิ่นหนึ่ง ๆ โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนที่ได้รับการโอนอำนาจสามารถที่จะกำหนดชะตากรรมในทางการเมืองได้ด้วยตนเอง (Home Rule) ผ่านการจัดตั้งสถาบันทางการเมืองในรูป “สภา” (Assembly) ที่เป็นของตนเอง
จากรูปแบบการกระจายอำนาจทั้งห้าลักษณะ เมื่อนำมาใช้ภายใต้บริบทของการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการปกครองท้องถิ่น การกระจายอำนาจจึงควรจะครอบคลุมเฉพาะรูปแบบที่สามถึงรูปแบบที่ห้าเท่านั้น ขณะที่สองรูปแบบแรกควรจัดแยกออกไป เนื่องจากว่า การกระจายอำนาจในรูปแบบแรก เป็นการเกิดขึ้นเองโดยประชาชนมิใช่เป็นผลจากการดำเนินการจัดสรรหรือแบ่งปันอำนาจจากรัฐบาลส่วนกลาง ขณะที่การกระจายอำนาจในลักษณะของการแปรรูปกิจการภาครัฐนั้น ท้ายที่สุดมิได้นำไปสู่สภาวะของการกระจายอำนาจที่เป็นจริง
จากความหมายและขอบข่ายโดยกว้าง เมื่อจำกัดกรอบการมองโดยอยู่บนฐานคิดเรื่องการบริหารปกครองในพื้นที่ท้องถิ่น ทำให้เห็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากหลักการกระจายอำนาจ แต่เนื่องจากการกระจายอำนาจนั้นมีหลายระดับ หมายความว่า ระบบการปกครองท้องถิ่นในประเทศหนึ่ง ๆ ย่อมมีอำนาจและความเป็นอิสระที่มากน้อยแตกต่างกันออกไป อีกทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดตั้งขึ้นมีลักษณะของการผสมผสานแนวคิดการกระจายอำนาจที่ต่างรูปแบบกัน

2. แนวคิดเรื่องการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น
2.1 รูปแบบของการปกครองท้องถิ่น
การปกครองท้องถิ่น สามารถพิจารณาแบ่งออกเป็น 2 แนวทางหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
1) มีความคิดความเชื่อและมีแนวทางการพิจารณาที่เห็นว่าการปกครองท้องถิ่นของทุกประเทศมีความเป็นมาตั้งแต่สมัยโบราณ และอาจมีมานับตั้งแต่มนุษย์ได้ก่อตั้งสังคมการเมืองขึ้นในโลก เช่น มีมาตั้งแต่สมัยกรีก สมัยโรมัน หรือสมัยก่อนหน้านั้น และในกรณีของไทยมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย หรือก่อนสมัยสุโขทัย เช่น การปกครองแบบหัวเมือง และระบบ เวียง วัง คลัง นา เป็นต้น แนวคิดนี้ เรียกได้ว่าเป็นความคิดแบบจารีตนิยม (Patrimonial / Traditionalist Perspective) เชื่อว่าการปกครองท้องถิ่นเป็นผลผลิตของการปกครองมาแต่โบราณ และเน้นรูปแบบการปกครองแบบที่มีลักษณะไม่เป็นทางการ เกิดขึ้นและกระจายอยู่ในสังคมต่าง ๆ โดยที่การปกครองท้องถิ่นในรูปแบบนี้มีลักษณะเป็นการปกครองตนเอง (Self Government) ของบรรดาผู้นำ หรือของชุมชนต่าง ๆ ที่มีเครือข่ายความสัมพันธ์ต่อกัน
2) การปกครองท้องถิ่นเป็นผลผลิตของรัฐสมัยใหม่ (Modern State) คือ ถือกำเนิดมาไม่นานมานี้ และจะมีพัฒนาการอย่างมากในห้วงเวลาที่ประเทศปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นสำคัญ แนวคิดนี้เป็นแนวคิดของสำนักสมัยใหม่นิยม (Modernist Perspective) เห็นว่า การปกครองท้องถิ่นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเกิดรัฐสมัยใหม่ขึ้นแล้วนั้น จะมุ่งสนใจถึงบทบาทของรัฐว่าเป็นองค์กรที่มีอำนาจทางการเมืองสูงสุด และเป็นผู้จัดให้มีการปกครองท้องถิ่นเกิดขึ้น
สำหรับการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบที่เป็นทางการ (Formal Institution) เรียกกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นการปกครองท้องถิ่น (Local Self Government) มีลักษณะเด่น ๆ คือ รัฐให้การรับรอง ซึ่งการรับรองดังกล่าวอาจเขียนไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศ หรือตราไว้ในพระราชบัญญัติก็ได้ การรับรองโดยรัฐดังกล่าวส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีฐานะเป็นนิติบุคคล (Juristic Person) สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบคือ การกระจายอำนาจทางการบริหาร (Administrative Decentralization) การกระจายอำนาจทางการเมือง (Political Decentralization) และ การกระจายอำนาจทางการคลัง (Fiscal Decentralization)
การที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีลักษณะเป็นทางการ และเป็นการปกครองตนเองของประชาชน ย่อมมีผลสำคัญต่อการก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่น ตลอดจนถึงสมาชิกสภาของท้องถิ่น เช่น มีการเลือกตั้งทั่วไป มีการกำหนดวาระในการดำรงตำแหน่ง การกำหนดอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ การพ้นจากตำแหน่ง และการถูกตรวจสอบทางการเมืองและการบริหารองค์กรทั้งโดยส่วนขององค์กรภายในและโดยองค์กรภายนอก
ในส่วนของการปกครองท้องถิ่นแบบไม่เป็นทางการ (Informal Institution) เป็นการปกครองตนเอง (Self Government) หรือเรียกว่า การเมืองชุมชนแบบธรรมชาติ (Nature หรือ Community Politics) มีลักษณะสำคัญขึ้นกับโครงสร้างอำนาจทางการเมืองของชุมชนนั้น ๆ เอง ว่าเป็นชนเผ่าหรือเป็นกลุ่มภาษาวัฒนธรรมใด มีวัฒนธรรมการรวมกลุ่ม มีการนับญาติ มีการประกอบอาชีพการงาน มีระบบการกระจายความมั่งคั่ง มีโครงสร้างทางชนชั้น มีกลุ่มสถานภาพและมีลักษณะของผู้นำ ในลักษณะใด
เนื่องด้วยเป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ การก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งของผู้นำ การใช้อำนาจของผู้นำ และการพ้นจากตำแหน่งของผู้นำ จึงมักไม่มีกฎที่มีความชัดเจนแน่นอนว่าเป็นเมื่อใดและในลักษณะใด
การแบ่งแยกการปกครองท้องถิ่นออกเป็นรูปแบบที่เป็นทางการ และรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเป็นสำคัญ ไม่ได้มีความหมายว่าในโลกความเป็นจริงมีการแบ่งออกเป็น 2 แบบอย่างเด็ดขาด ทุกสังคมการเมือง รวมทั้งประเทศไทยด้วยนั้น ปรากฏว่ามีทั้งการปกครองท้องถิ่นทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการดำรงอยู่ควบคู่กัน
ภายในชุมชนทางการเมือง มีลักษณะเป็นหน่วยทางการเมืองที่เป็นตัวของตัวเอง (Political Entity) หนึ่ง ๆ เรียกกันว่า ระบบการเมือง (Political System) หรือ ระบอบการเมือง (Political Regime) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดรูปแบบการปกครองภายในระบบของตน กล่าวคือ จะต้องมีการกำหนดและจัดสรรอำนาจทางการเมืองการปกครองว่าจะให้องค์กรหรือสถาบันใดเป็นผู้ใดมีอำนาจ อีกทั้งอำนาจดังกล่าวถูกใช้โดยองค์กรเดียวหรือหลายองค์กร จากกรอบความคิดนี้จึงเป็นที่มาของแนวคิดในเรื่องการรวมอำนาจ (Centralization) และการกระจายอำนาจ (Decentralization) ซึ่งถูกใช้ในการจัดรูปแบบทางการปกครอง (Form of Government) ภายในระบอบการเมือง


ระบอบการเมืองภายใต้รัฐสมัยใหม่ทั้งมวล (Modern States)
อำนาจทางการเมืองการปกครองจะถูกจัดแบ่งออกไปในระหว่างสถาบันทางการเมืองในศูนย์กลางหรือระดับชาติ (Central / National Institutions) กับสถาบันทางการเมืองนอกศูนย์กลางหรือชายชอบ (Peripheral Institution) ไม่ว่าจะเป็นในระดับท้องถิ่น (Local) มณฑลหรือจังหวัด (Provincial) หรือภาค (Regional) เสมอ ทั้งนี้ ธรรมชาติหรือลักษณะของการจัดแบ่งในแต่ละรัฐก็จะมีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขภายในแต่ละรัฐนั้นเป็นสำคัญ เช่น ข้อกำหนดตามกรอบรัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างศูนย์กลางกับชายขอบ (Central-periphery Relationships) แบบแผนทางการบริหารงานบุคคลในภาครัฐ เป็นตัวกำหนดรูปแบบและวิธีการได้มาซึ่งตัวแทนหรือบุคลากรที่จะมาทำงานในสถาบันทางการเมืองการปกครองต่าง ๆ
ระดับของการจัดสรรแบ่งปันอำนาจภายในรัฐหนึ่ง ๆ มีความแตกต่างกันออกไป สิ่งที่เหมือนกันคือ ไม่มีรัฐใดที่จะมีแต่เพียงสถาบันทางการเมืองในศูนย์กลางหรือชายขอบแต่เพียงอย่างเดียว หากต้องปรากฏทั้งสองสิ่งอยู่ควบคู่กันเสมอ หมายความว่า การรวมศูนย์อำนาจ และ การกระจายอำนาจ เป็นสภาวะที่ปรากฏอยู่ร่วมกันเสมอในรัฐสมัยใหม่ทุกแห่ง
2.2 การปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น
การปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น (Local Self Government) เป็นการปกครองที่เกิดมาตั้งแต่ในอดีต เรียกว่าเป็น “การเมืองชุมชนแบบธรรมชาติ” (Nature หรือ Community Politics) โดยสภาพการเมืองธรรมชาตินั้นเกิดมาตั้งแต่เมื่อมนุษย์รวมตัวกันเป็นชุมชนทางการเมือง ในแต่ละชุมชนจะมีความแตกต่างหลากหลายกันออกไป
ในสังคมขนาดเล็ก เช่น สังคมแบบล่าสัตว์และเก็บหาอาหาร สังคมชนเผ่าหรือสังคมเกษตรกรรม ระบบเครือญาติหรือความเป็นญาติพี่น้องมีอิทธิพลครอบงำระบบการผลิตและการแบ่งปันทรัพยากร การจัดตั้งองค์กรสังคม สมัครพรรคพวกและระบบการเมือง ตลอดจนครอบคลุมความสัมพันธ์ทางสังคมทั้งหมดเอาไว้
ในสังคมชาวนาไทย กลุ่มเครือญาติเป็นพื้นฐานสำคัญของข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมภายในชุมชนตลอดมาทุกยุคสมัย สมาชิกของกลุ่มเครือญาติที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันและหมู่บ้านใกล้เคียงจะเป็นผู้ที่ชาวบ้านให้ความใกล้ชิดสนิทสนม สนับสนุนและช่วยเหลือเกื้อกูลมากกว่าเพื่อนบ้านหรือชาวบ้านอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวดองด้วยสายสัมพันธ์ทางเครือญาติ
อาจกล่าวได้ว่า การปกครองท้องถิ่น คือ รากฐานในทางประวัติศาสตร์ของสังคม จนสามารถกล่าวได้ว่าท้องถิ่นดั้งเดิมนั้นมีสิ่งที่เรียกว่า Local Self Government อยู่แล้ว หากอยู่ในรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ (Informal) คือ การปกครองในรูปแบบของเครือญาติ วงศ์วาน ตระกูล มีผู้หลักผู้ใหญ่เป็นผู้ดูแล หรือในการปกครองระดับหมู่บ้านหรือชุมชน
ในประเทศยุโรปส่วนใหญ่มีระบบการปกครองท้องถิ่นเป็นรากฐานในทางประวัติศาสตร์ของสังคมที่ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนจนเป็นระบบรัฐในยุคปัจจุบัน ในหลายประเทศยังคงมีระบบการปกครองท้องถิ่นที่มีเค้าโครงหรือร่องรอยในทางประวัติศาสตร์ซึ่งอาจไม่ได้มีบทบาทในทางสังคมอีก เช่น ระบบแพริช ในประเทศอังกฤษ เป็นต้น ดังนั้น ที่มาของระบบการปกครองท้องถิ่นในประเทศยุโรปจึงมีพื้นฐานในทางประวัติศาสตร์เป็นสำคัญและนับได้ว่าเป็นระบบการปกครองที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีระบบรัฐและการปกครองประเทศ
ทั้งนี้ สภาพของชุมชนที่เกิดขึ้นในยุคดั้งเดิมเหล่านี้เกิดก่อนระบบรัฐและอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ แม้ว่าในที่สุดแล้วชุมชนต่าง ๆ จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไปแล้วก็ตาม ชุมชนเหล่านี้ คือ การรวมตัวของสังคมอย่างเป็นธรรมชาติก่อนที่จะได้มีการจัดระบบสังคมในทางการเมืองการปกครองตามอุดมคติในทางการเมือง การจัดระบบเศรษฐกิจและสังคมในยุคสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป ข้อเสียของการปกครองตนเองในรูปแบบนี้ ได้แก่ ไม่มีความยั่งยืนแน่นอน และไม่มีระบบกฎหมายเพื่อรองรับอำนาจของผู้ปกครอง
การกระจายอำนาจเป็นการปกครองที่รัฐและรัฐบาลกลางได้สละอำนาจ หรือมอบอำนาจการตัดสินใจในทางการปกครองและการบริหารของส่วนกลางให้แก่องค์กรอื่นอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ มีการประกาศหลักและแนวทางการมอบอำนาจนั้นไว้เป็นกฎหมาย หรือโดยนโยบายที่สำคัญของประเทศและองค์กรที่สามารถรับมอบอำนาจาจากรัฐบาลกลาง มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจ สามารถมีทรัพย์สิน มีงบประมาณ มีอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน รวมทั้งมีบุคลากร ตลอดรวมจนถึงผู้บริหารและสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยทำหน้าที่ให้บริการประชาชนภายในอาณาบริเวณหนึ่ง ๆ ที่มีความชัดเจนแน่นอน องค์กรที่สามารถรับมอบอำนาจ ที่รัฐบาลกลางสละอำนาจมาให้นี้ได้เรียกว่า “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”
การปกครองท้องถิ่นแบบกระจายอำนาจ นอกจากจะมุ่งประโยชน์ไปที่การพัฒนาศักยภาพของประชาชน และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มี “ส่วนร่วม” ในการปกครองตนเองแล้ว ยังมีความสำคัญในฐานะที่เป็นวิธีการปกครองและการบริหารประเทศอย่างใหม่ มีการกระจายอำนาจภารกิจหน้าที่การงานที่เป็นภารกิจพื้นฐานจากรัฐบาลกลางให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้กระทำการแทน เช่น การรักษาความสะอาด การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การจัดการศึกษาชั้นประถม เป็นต้น การกระจายภารกิจหน้าที่ คือ การถ่ายโอนงานให้กระทำการแทนรัฐบาลกลาง และบางเรื่องรัฐบาลกลางก็มักตัดสินใจให้องค์กรเอกชนรับทำงานแทนรัฐบาลกลาง เช่น การไปรษณีย์ และการขนส่ง เป็นต้น
การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะมีระดับที่มากน้อยเพียงใด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในรัฐเดี่ยวก็ยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลกลางเสมอ

3. แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น
แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่น (Local Democracy) เป็นแนวคิดที่มีมากับชุมชนขนาดเล็ก นั่นคือ เป็นเรื่องของประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) การลงประชามติ (Referendum) มีการเลือกตั้งผู้แทนเข้ามาทำหน้าที่ต่าง ๆ แทนตน หรือที่เรียกว่าระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy)
ในสมัยปัจจุบันเป็น Formal Democracy มีผลกระทบต่อการปกครองท้องถิ่นที่ดำรงอยู่ภายในรัฐสมัยใหม่ของแต่ละประเทศ ปัจจัยสำคัญ ๆ ที่ควรกล่าวถึงมีดังต่อไปนี้
รัฐสมัยใหม่กับการปกครองแบบประชาธิปไตยมีพัฒนาการที่ควบคู่และเกี่ยวข้องกันมา โดยประชาธิปไตยที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อหนึ่งและสองร้อยปีที่ผ่านมา เน้นหลักการประชาธิปไตยตัวแทน (Representative Democracy) เป็นสำคัญ หลักการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นจากแนวคิดและการปฏิบัติเรื่องการเลือกตั้ง การขยายสิทธิเลือกตั้ง ระบบพรรคการเมือง และการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นองค์กรผลประโยชน์ต่าง ๆ เป็นต้น
ในปัจจุบันนี้ แนวคิดประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) และประชาธิปไตยโดยทางตรง (Direct Democracy) ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาในทางโลกทางการเมืองสมัยใหม่ ในแนวคิดประชาธิปไตยของโลกสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลทั้งต่อการเมืองระดับชาติ และการเมืองระดับท้องถิ่น รัฐบาลสมัยใหม่ของทุกประเทศล้วนเน้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม นอกจากนี้ ยังเปิดให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการประชุมของสภาท้องถิ่น ในการทำประชาพิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นต่อการตราข้อบัญญัติของท้องถิ่น
แนวคิดประชาธิปไตยทางตรง ส่งผลให้ประชาชนในสมัยปัจจุบันมีสิทธิในการเข้าชื่อกันเสนอร่างกฎหมาย (Initiatives) มีสิทธิในการลงประชามติ (Referendum) เรื่องสำคัญ ๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาชน เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การจัดเก็บภาษีชนิดใหม่ ๆ การยกเลิก หรือยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการเปลี่ยนแปลงระบบผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

4. คุณค่าและความสำคัญของการปกครองท้องถิ่น
ภายในรัฐสมัยใหม่ การรวมศูนย์อำนาจมีขีดจำกัด เนื่องจากการบริหารปกครองประเทศที่ประกอบไปด้วยประชากรมากมายและพื้นที่อันกว้างไกลโดยรัฐบาลที่ศูนย์กลางแต่เพียงสถาบันเดียวย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก หรือเกิดสภาพของความ “ไม่ประหยัดในเชิงขนาด” (‘diseconomies of scale’) จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการถ่ายเทอำนาจในทางการเมืองการปกครองให้อยู่ในมือขององค์กรหรือสถาบันที่อยู่นอกศูนย์กลางออกไป ด้วยเหตุนี้ คุณค่าและความสำคัญของการปกครองท้องถิ่น มีดังต่อไปนี้
1) การปกครองท้องถิ่นช่วยสนองตอบต่อปัญหาและความต้องการของชุมชนภายในท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยทางการปกครองจำนวนเล็ก ๆ ที่มีมากมายกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยพื้นที่เหล่านั้นย่อมมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะทางกายภาพ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นนั้น ๆ ทำให้การบริหารและการปกครองที่มีลักษณะของการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่รัฐบาลเพียงแห่งเดียว ไม่สามารถที่จะตอบสนองต่อความต้องการและปัญหาที่เกิดขึ้นภายในชุมชนนั้น ๆ จึงจำเป็นต้องกระจายระบบงานให้มีลักษณะคล่องตัวและปรับตัวให้ยืดหยุ่น นั่นก็คือ การสร้างหน่วยการปกครองที่เรียกว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้มาจัดทำบริการและแก้ปัญหาของประชาชนในท้องถิ่น และยังจะเป็นการสร้างเสริมความเข้มแข็งให้กับหลักความรับผิดชอบตามระบอบประชาธิปไตย (Democratic Accountability)
2) การปกครองท้องถิ่นเป็นโรงเรียนประชาธิปไตยในระดับรากหญ้า ระบบการปกครองท้องถิ่นจะต้องมีการเลือกตั้ง มีระบบพรรคการเมืองระดับท้องถิ่น มีการต่อสู้และการแข่งขันในทางการเมือง ตามวิถีทางและตามกติกา ในที่สุดก็จะทำให้ประชาชนเข้าใจถึงระบบการปกครองตนเอง เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่ายที่อยู่ภายใต้โครงสร้างทางการบริหาร ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร และที่สำคัญคือการเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของประชาชน และในที่สุดจะทำให้เกิดการพัฒนาทางการเมืองได้ และการที่ปกครองท้องถิ่นช่วยสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจในทางการเมือง ถือได้ว่าเป็นสถาบันฝึกสอนประชาธิปไตยให้ประชาชน
3) สร้างการมีส่วนร่วม (Participation) การมีอยู่ของรัฐบาลในระดับท้องถิ่น หรือในระดับภูมิภาค ย่อมเอื้อต่อประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองได้มากกว่า เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับชุมชนของตน และการเข้ามาบริหารกิจการสาธารณะต่าง ๆ ภายในชุมชนด้วยตัวเอง จะเป็นผลให้ประชาชนเหล่านี้ได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ในทางการเมืองการปกครองตามหลักการปกครองตนเอง และนำไปสู่การเติบโตของ “ความเป็นพลเมือง” ในหมู่ประชาชน
4) สร้างความชอบธรรม (Legitimacy) ความห่างไกลทั้งในทางภูมิศาสตร์และในทางการเมือง ย่อมทำให้การตัดสินใจโดยสถาบันทางการเมืองที่ห่างไกลออกไปจากชุมชนท้องถิ่น อาจจะไม่ได้รับการยอมรับ ในทางตรงกันข้ามหากการตัดสินใจกระทำในระดับชุมชนท้องถิ่น มีแนวโน้มที่จะได้รับการยอมรับและเป็นการสมเหตุสมผลมากกว่า ทำให้การตัดสินใจในทางการเมืองการปกครองนั้นมีความชอบธรรม
5) ดำรงหลักเสรีภาพ (Liberty) หากอำนาจทางการเมืองการปกครองถูกรวบอยู่ที่ศูนย์กลางมากเกินไป เป็นไปได้ที่จะเกิดการใช้อำนาจในทางที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล และสร้างความเสียหายให้กับสังคมโดยรวมได้ง่าย ในทางตรงข้าม การกระจายอำนาจจึงเป็นมรรควิธีหนึ่งในการปกป้องเสรีภาพของปัจเจกบุคคล โดยการทำให้อำนาจมีการกระจัดกระจายออกไป อันจะนำไปสู่การสร้างโครงข่ายของการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน (Checks and Balances) ระหว่างศูนย์กลางกับพื้นที่นอกศูนย์กลาง
นอกเหนือจากการให้การอธิบายถึงหลักการและแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจนั้น กระจายอำนาจยังมีจุดอ่อนหรือข้อเสียเช่นเดียวกับการรวมศูนย์อำนาจ มีอยู่ด้วยกัน 4 ประการ ดังนี้
1) ด้านการเมือง การกระจายอำนาจอาจนำไปสู่ภาวะของความไร้เอกภาพและเสถียรภาพในทางการเมืองได้ เช่น กรณีของรัฐเดี่ยว การกระจายอำนาจที่เกิดขึ้นอาจเป็นแรงผลักเคลื่อนไปสู่ความเป็นสหพันธรัฐ ส่วนประเทศที่เป็นสหพันธรัฐ ความเป็นเอกภาพอาจจะน้อยลงไปอีก ในกลุ่มประเทศที่มีความเป็นเอกภาพที่ต่ำอยู่แล้ว ประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มทางศาสนา ที่มีความแตกต่างกันและขัดแย้งกันอยู่แล้ว การกระจายอำนาจอาจทำให้เกิดความไร้เอกภาพในทางการเมืองได้
2) ด้านการคลัง การกระจายอำนาจที่มากเกินไป อาจนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพในทางการคลังของประเทศได้ เนื่องจากเมื่อสัดส่วนทางการคลังในภาคสาธารณะส่วนใหญ่อยู่ในระดับท้องถิ่น เป็นการยากที่รัฐบาลกลางจะกำหนดทิศทางและควบคุมระบบการคลังของประเทศโดยรวมได้ และหากการใช้จ่ายของท้องถิ่นต่าง ๆ ปราศจากวินัยในทางการคลัง เช่น การใช้จ่ายอย่างเกินตัว ขณะที่ความสามารถในการจัดเก็บรายได้มีต่ำ จะสร้างปัญหาและเกิดภาวะความไร้เสถียรภาพต่อระบบการคลังของประเทศเป็นอย่างมาก
3) ด้านความเสมอภาค การกระจายอำนาจยิ่งมาก จะนำไปสู่ความแตกต่างและความไม่เท่าเทียมกันระหว่างพื้นที่หรือท้องถิ่นต่าง ๆ ทั้งในทางเศรษฐกิจ การคลัง คุณภาพชีวิต การบริการสาธารณะ เนื่องจากอำนาจในทางการเมืองและการจัดทำบริการสาธารณะ ตลอดจนทรัพยากรทางการบริหาร ขึ้นอยู่กับศักยภาพของท้องถิ่นแต่ละแห่ง ความแตกต่างและไม่เท่าเทียมกันระหว่างท้องถิ่นจึงเกิดขึ้น
4) ด้านปัญหาการใช้ทรัพยากร เมื่อแต่ละชุมชนมีความเป็นอิสระในกรอบของตน การใช้ทรัพยากรภายในประเทศอาจมีแนวโน้มที่จะเป็นไปอย่างไร้เสถียรภาพ เพราะพื้นที่แต่ละแห่งต่างก็ใช้ทรัพยากรไปตามความต้องการและความจำเป็นของตน ทรัพยากรจึงถูกใช้อย่างกระจัดกระจายและไร้ทิศทาง



ละครหุ่นแห่งการเรียนรู้ ตอน อบต. ทำอะไร









เบื้องหลังการถ่ายทำ























สิ่งที่ประชาชนควรทราบเกี่ยวกับ การเลือกตั้งและอื่นๆ




ความสำคัญของการเลือกตั้ง ส.ส.
การเลือกตั้ง ส.ส. มีความสำคัญต่อคนไทยทุกคนที่ต้องไปทำหน้าที่เพื่อมอบอำนาจอธิปไตยของเราโดยการเลือกผู้แทนไปทำหน้าที่ในการปกป้องผลประโยชน์และดูแลทุกข์สุขของประชาชน รวมทั้งบริหารงบประมาณของประเทศชาติถึงปีละหนึ่งล้านล้านบาท
ดังนั้น การเลือกผู้แทนที่เป็น “คนดี” มีความซื่อสัตย์ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนให้เข้าไปทำงานทางการเมืองเราจะทำให้สามารถใช้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์ที่มาจากเงินภาษีของประชาชนไปพัฒนาประเทศชาติได้อย่างเต็มที่


ที่มาของ ส.ส.
ส.ส. มีจำนวน 480 คน มาจากการเลือกตั้ง 2 แบบ ได้แก่
ส.ส. แบบแบ่งเขต
มีจำนวน 400 คน คือ ส.ส. ที่มาจากเขตเลือกตั้งโดยการแบ่งเขตเลือกตั้งทั่วประเทศออกเป็น 157 เขต ในแต่ละเขตเลือกตั้งมี ส.ส. ได้ 1-3 คน ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับลงมาเป็นผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ส.
ส.ส. แบบสัดส่วน
มีจำนวน 80 คน คือ ส.ส. ที่พรรคการเมืองที่ลงสมัครในแต่ละเขตเลือกตั้งต้องส่งบัญชีรายชื่อพรรคละ 10 คน เรียงลำดับไว้เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งพิจารณาเลือก ซึ่งระบบนี้จะแบ่งประเทศออกเป็น 8 เขตเลือกตั้ง มี ส.ส. ได้เขตเลือกตั้งละ 10 คน

ส.ส. แบบสัดส่วนจะแบ่งประเทศออกเป็น 8 กลุ่มจังหวัด ดังนี้
กลุ่มจังหวัดที่ 1 ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน สุโขทัย ตาก และกำแพงเพชร

กลุ่มจังหวัดที่ 2 ได้แก่ จังหวัดอุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ และขอนแก่น

กลุ่มจังหวัดที่ 3 ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ มุกดาหาร นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู และเลย

กลุ่มจังหวัดที่ 4 ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร และร้อยเอ็ด

กลุ่มจังหวัดที่ 5 ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว นครราชสีมา ปทุมธานี นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

กลุ่มจังหวัดที่ 6 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ

กลุ่มจังหวัดที่ 7 ได้แก่ จังหวัดระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี

กลุ่มจังหวัดที่ 8 ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส


หน้าที่ของ ส.ส.
- ออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
- เป็นผู้เลือก ส.ส. ที่จะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี
- ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน
- จัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อพัฒนาประเทศ
- นำปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนเสนอรัฐบาล

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส.
- มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
- อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

ลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
- เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
- อยู่ในระหว่างถูกเพิงถอนสิทธิการเลือกตั้ง
- ต้องคุมขังโดยหมายของศาลหรือโดยตคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
- วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน หรือไม่สมประกอบ

การลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ล่วงหน้า(ประกาศ 7 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง)

การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด
ผู้ที่ทำงานหรืออาศัยอยู่คนละจังหวัดกับทะเบียนบ้านหรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านปัจจุบันไม่ถึง 90 วัน สามารถไปลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ก่อนวันเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลางของจังหวัดที่ท่านทำงานหรืออาศัยอยู่ได้ แต่ต้องยืนคำขอลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง ต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 30 วัน จึงจะมีสิทธิ

กรณีเขตเลือกตั้งใดมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. แทนตำแหน่งที่ว่าง หรือมีการเลือกตั้งใหม่ บุคคลผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิดังกล่าวก็สามารถเดินทางกลับไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ณ หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านได้
การลงคะแนนเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง
ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านตามทะเบียนบ้าน แต่ในวันเลือกตั้งต้องเดินทางออกนอกเขตไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ ก็สามารถไปแสดงตนเพื่อขอลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ก่อนวันเลือกตั้งได้ ณ ที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง โดยไม่ต้องยื่นคำขอลงทะเบียนแต่ต้องแจ้งขอใช้สิทธิดังกล่าวต่อ กกต.เขต

การตรวจสอบรายชื่อ
- 20 วันก่อนวันเลือกตั้ง ตรวจสอบรายชื่อจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ที่ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการเขต ที่ทำการ อบต. สำนักงานเทศบาล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หรือเขตชุมชน
- 15 วันก่อนวันเลือกตั้ง ตรวจสอบรายชื่อจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้ะที่เลือกตั้งจากหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน (ส.ส.12)
การเพิ่มชื่อ - ถอนชื่อ
ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน หากเห็นว่าไม่มีชื่อตนเองหรือมีชื่อผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งปรากฏอยู่ในบัญชีรายชื่อ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้แจ้งนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น โดยนำหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่นใดที่ทางราชการออกให้มาแสดงด้วย

การแจ้งเหตุที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ได้
- ก่อนหรือหลังวันเลือกตั้ง 7 วัน ขอรับแบบ ส.ส. 28 หรือทำหนังสือชี้แจงเหตุที่ทำให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ และให้ระบุเลขประจำตัวประชาชนและที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน
- ยื่นหนังสือต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น ด้วยตนเอง หรือมอบหมายผู้อื่นหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน

ผู้ที่มีเหตุทำให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ได้
- ผู้มีธุรกิจจำเป็นเร่งด่วนต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
- ผู้ป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
- ผู้พิการหรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
- ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
- ผู้มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
- ผู้ประสบเหตุสุดวิสัย เช่น อุทกภัย วาตภัย ฯลฯ

หลักฐานที่ใช้ในการเลือกตั้ง
- บัตรประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)
- บัตรหรือหลักฐานที่ราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้มีรูปถ่ายและหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน เช่น
- บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ
- ใบขับขี่
- หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)


ขั้นตอนการลงคะแนนเลือกตั้ง
ตรวจสอบรายชื่อ ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อผู้สิทธิเลือกตั้งที่ประกาศไว้หน้าหน่วยเลือกตั้ง
ยื่นบัตรประชาชน ยื่นบัตรประชาชนและลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือขวาบนต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง พร้อมรับบัตร 2 ใบ คือ บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และบัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบสัดส่วน (ถ้าเป็นการเลือกตั้งซ่อมจะมีเฉพาะบัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตใบเดียว)
ทำเครื่องหมายกากบาท เข้าคูหาลงคะแนน ทำเครื่องหมายกากบาท X ลงในช่องทำเครื่องหมาย
- บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต เลือกได้ไม่เกินจำนวน ส.ส. ที่มีในเขต
- บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบสัดส่วน เลือกพรรคการเมืองเพียงหมายเลขเดียว
- หากไม่ต้องการเลือกใครหรือพรรคการเมืองใด ให้ทำเครื่องหมายกากบาท X ในช่องไม่ลงคะแนน
- หย่อนบัตรด้วยตนเอง เมื่อลงคะแนนเสร็จแล้วพับบัตรเลือกตั้งให้เรียบร้อยและหย่อนบัตรลงในหีบ บัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง


คนดีที่คนเลือกเป็น ส.ส. ควรมีลักษณะ เช่น
- มีประวัติการทำงานหรือผลงานที่ผ่านมาดีและเป็นที่ยอมรับ
- มีคุณธรรมและรู้จักเสียสละ
- เข้าถึงประชาชนในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นและนำมาแก้ไข โดยเสนอเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
- เป็นแบบอย่างของการรู้จักรักษาประโยชน์ของส่วนรวมไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง เช่น แจกเงินหรือสิ่งของเพื่อให้ผู้ใดลงคะแนนให้ตนเอง หรือไม่ลงคะแนนให้กับผู้สมัครอื่น หรือพรรคอื่นๆ

พรรคการเมืองที่ดี ควรมีลักษณะ เช่น
- มีนโยบายเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน และมีแนวทางปฏิบัติให้เป็นจริงได้
- ระบบบริหารของพรรคยึดหลักการประชาธิปไตย
- มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
- ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้
- เป็นพรรคที่รวมคนทุกกลุ่มในสังคมเป็นสมาชิกไม่ใช่ยึดติดเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

การนับคะแนนและการประกาศผล
เมื่อเสร็จสิ้นการลงคะแนนในเวลา 15.00 น. ของวันเลือกตั้งแล้ว จะนับคะแนน ณ ที่เลือกตั้งโดยเปิดเผยจนเสร็จสิ้นในรวดเดียว เพื่อ
- ป้องกันการทุจริตเลือกตั้งที่อาจเกิดจากการขนย้ายหีบบัตร
- ให้การนับคะแนนเสร็จสิ้น และสามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้รวดเร็ว

หลังจากนั้น กกต.เขต จะรวบรวมผลการนับคะแนนของทุกหน่วยเลือกตั้งภายในเขต และประกาศผลรวมคะแนนของเขตและปิดประกาศไว้ในสถานที่ที่กำหนด พร้อมรายงานต่อ กกต.ประจำจังหวัด และรายงานต่อ กกต. เพื่อประกาศและรับรองผลการเลือกตั้ง


การคัดค้านการเลือกตั้ง
ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง ซึ่งมีสมาชิกสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดเขตเลือกตั้งหนึ่งยื่นคัดค้านต่อ กกต. โดย

- ก่อนวันการประกาศผลการเลือกตั้ง หรือภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง กรณีเห็นว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- ภายใน 180 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง กรณีเห็นว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ใช้จ่ายเงินในการหาเสียงเกินจำนวนที่ กกต. กำหนด หรือผู้สมัครไม่ยื่นบัญชีรายรับ-รายจ่าย ภายใน 90 วันหลังวันเลือกตั้ง


การเสียสิทธิ 3 ประการ
ผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่ได้แจ้งเหตุอันสมควรจะเสียสิทธิ ดังนี้

- สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.
- สิทธิสมัครรับเลือกตั้งและสิทธิได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น
- สิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน

สิทธิทั้ง 3 ประการ จะได้กลับคืนมาก็ต่อเมื่อไปใช้สิทธิการเลือกตั้งอย่างใดอย่างหนึ่งในการเบือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับชาติหรือท้องถิ่น

ข้อห้ามกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
- ห้ามซื้อเสียง หรือจัดเตรียมซื้อเสียง
- ห้ามรับเงินและประโยชน์อื่นใด เพื่อลงคะแนนเลือกตั้ง
- ห้ามส่งเสียงและห้ามขายหรือจัดเลี้ยงสุรา ตั้งแต่ 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง
- ห้ามนายจ้างขัดขวางการไปใช้สิทธิของลูกจ้าง
- ห้ามขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้ง
- ห้ามจัดยานพาหนะ (ยกเว้นหน่วยงานรัฐ) ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปเลือกตั้ง โดยไปต้องเสียค่าโดยสาร
- ห้ามทำให้บัตรเลือกตั้งชำรุดอย่างจงใจ
- ห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนเองได้ลงคะแนนแล้วด้วยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดๆ
- ห้ามเล่นการพนันขันต่อใดๆ เกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง
- ห้ามเปิดเผยหรือเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง (โพลล์) ในระหว่างเวลา 7 วันก่อนวันเลือกตั้งจนถึงเวลาปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง
การไม่ซื้อสิทธิขายเสียงเป็นวาระแห่งชาติ
รัฐบาลประกาศให้ การแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากการทุจริตเลือกตั้งส่งผลเสียหายโดยรวมต่อประเทศชาติของเรา เช่น
- ต้องสูญเสียงบประมาณ ซึ่งมาจากเงินภาษีของประชาชนในการจัดการเลือกตั้งใหม่
- ส.ส. ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปจากการทุจริตเลือกตั้งอาจเข้าไปโกงเงินภาษีของประชาชนเพื่อถอนทุนคืน
การมีส่วนร่วมของประชาชนในการแจ้งเหตุทุจริต
เมื่อพบเห็นการทุจริตเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงิน สิ่งของ หรือมีการเรียกรับเงิน หรือทรัพย์สิน ให้ช่วยกันแจ้งเบาะแส หรือรวบรวมหลักฐานการทุจริตแจ้งต่อตำรวจในพื้นที่หรือรายงานให้ กกต. ทราบ
ด้วยตัวเอง หรือ ทางโทรศัพท์ หมายเลข 0-2143-8668 , 0-2141-8888


ทีมา : http://www.ect.go.th